วันพฤหัสบดีที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2551


ความรู้เบื้องต้นในการเลี้ยงกระรอก

การเจริญพันธุ์ ..
วัยเจริญพันธุ์ของกระรอกจะแตกต่างกันไป แล้วแต่สายพันธุ์ จะเริ่มตั้งแต่ 4 เดือน ถึง 2 ปี ระยะเวลาตั้งท้องประมาณ 20-40 วัน จำนวนลูกไม่แน่นอน แต่ส่วนใหญ่ประมาณ 1-2 ตัว อายุขัยอาจจะสามารถยาวนานได้ถึง10 ปี การเลี้ยงลูกกระรอก .. ลูกกระรอกจะเลี้ยงค่อนข้างยากเนื่องจาก ผู้ขายมักจะนำมาจากแม่ในธรรมชาติ มากกว่าที่จะมีการเพาะเลี้ยงได้เอง ดังนั้นจะมีปัญหาเรื่องสุขภาพพอสมควร เพราะไม่ได้รับน้ำนมจากแม่มาอย่างเพียงพอ ดังนั้นจึงไม่แนะนำให้เลี้ยงกระรอกที่เล็กเกินไป ลูกกระรอกที่ยังไม่ลืมตาต้องมีการกระตุ้นให้ตาเปิดโดยใช้สำลี ชุบน้ำหมาดเช็ดที่ตามทุกวัน นอกจากนี้ต้องเช็ดที่ก้นด้วยเพื่อกระตุ้นการขับถ่ายอาหารลูกกระรอก .. ลูกกระรอกที่ยังไม่หย่านมจำเป็นต้องกินน้ำนม น้ำนมส่วนใหญ่ที่ให้กินจะเป็นนมผงสำหรับเด็กแรกเกิด หรือนมผงสำหรับเลี้ยงลูกสุนัข หรือกระต่าย หรือหนู นอกจากนี้อาจให้เป็นนมถั่วเหลืองได้ สำหรับนมวัวไม่แนะนำให้ใช้ เพราะมักจะเป็นสาเหตุให้กระรอกท้องเสียได้ เนื่องจากมีปริมาณน้ำตาลที่ลูกกระรอกไม่สามารถย่อยได้มาก การชงนม ต้องชงใหม่ทุกครั้ง และไม่ให้นมที่ร้อนเกินไปแก่ลูกกระรอก การชงนมไม่ควรให้เข้มข้นเกินไปเพราะจะกินยาก และทำให้เกิดการท้องอืด หรือท้องเสียได้ การป้อนนมนิยมใช้กระบอกฉีดยาขนาดเล็กค่อยๆหยอดให้กิน อย่าให้เร็วหรือมากเกินไปในแต่ละครั้ง เพราะอาจทำให้สำลักได้ซึ่งจะส่งผลให้ลูกกระรอกเป็นปอดบวมได้ ลูกกระรอกควรได้กินนมประมาณ 5 ครั้งต่อหนึ่งวัน ในแต่ละครั้งไม่ควรให้จนอิ่มเกินไปเพราะจะทำให้ท้องอืดได้ ที่อยู่ของลูกกระรอก .. ลูกกระรอกต้องการความอบอุ่นมากกว่ากระรอกโต ดังนั้นที่อยู่ของมันควรจะปราศจากลมพัด อากาศอบอุ่น ควรมีการตั้งหลอดไฟ เพื่อเพิ่มความอบอุ่นให้แก่ลูกกระรอก มีผ้าเพื่อให้ลูกกระรอกซุกตัว และปลอดภัยจากสัตว์อื่นรวมทั้ง เด็กที่อาจจะเข้ามารบกวน และอันตรายแก่ลูกกระรอกได้ การหย่านม .. ควรเริ่มให้อาหารอ่อนเมื่อเมื่อลูกกระรอกอายุประมาณ 2-3 เดือน แต่คนเลี้ยงไม่นิยมหย่านมลูกกระรอกเนื่องจากสามารถให้นมเป็นอาหารลูกกระรอกที่โตได้เช่นกัน จริงๆแล้วควรฝึกให้ลูกกระรอกเริ่มกินผลไม้ ผัก ใบไม้เป็นหลัก และให้นมเป็นอาหารเสริม เพราะจะช่วยให้กระรอกมีร่างกายที่แข็งแรงมากกว่าการอาบน้ำกระรอก .. ผู้เลี้ยงบางท่านชอบอาบน้ำให้กระรอก ซึ่งสามารถทำได้ แต่ควรจะเช็ดตัว และทำให้กระรอกตัวแห้งโดยเร็วเพื่อไม่ให้เป็นปอดบวม การอาบน้ำทำได้โดยใช้น้ำเปล่าอาบ หากจำเป็นต้องใช้แชมพูให้ใช้แชมพูของสุนัขที่อ่อนที่สุด โดยนำไปละลายน้ำให้เจือจางอีก 3-4 เท่า

ในบรรดาสายพันธุ์กระรอกที่พบในบ้านเรานั้น กระรอกสวนได้รับความนิยมนำมาเลี้ยงเป็นสัตว์สวยงามและเลี้ยงเป็นเพื่อนแก้เหงามากที่สุด จากที่เคยมีราคาซื้อ-ขายที่ตลาดนัดจตุจักรเฉลี่ยตัวละ 50-150 บาท ทุกวันนี้ราคาสูงไปถึงตัวละ 200-2,500 บาท เนื่องจากกระรอกสวนเลี้ยงง่ายและมีนิสัยดุร้ายน้อยกว่ากระรอกสายพันธุ์อื่น ๆ เลี้ยงให้เชื่องได้ง่าย อาหารที่ใช้เลี้ยงกินผลไม้เป็นหลัก เมื่อกินเสร็จจะให้นอนในกระเป๋าเสื้อ นอกจากกระรอกสวนแล้วยังมีพันธุ์กระรอกหลากสีที่นิยมเลี้ยง สำหรับพันธุ์ที่หายากคือ “พญากระรอก” ซึ่งเมื่อเลี้ยงให้โตเต็มที่จะมีขนาดตัวเท่ากับแมว คุณธนพร เจ๊อูมา คุณครูวัย 27 ปี ชาวคลองเตย กรุงเทพมหานคร ได้เล่าถึงประสบ การณ์ในการเลี้ยงกระรอกสวนเมื่อประมาณ 3 ปีที่ผ่านมาได้ลูกกระรอกสวนที่ยังเป็นลูกอ่อน สีแดงเหมือนลูกหนูมาเลี้ยง ในขณะนั้นยังมี ข้อมูลในการเลี้ยงกระรอกสวนไม่มากนัก ได้แลกเปลี่ยนความรู้ในการเลี้ยงจากคนอื่น 2-3 รายเท่านั้น จนปัจจุบันกระรอกที่เลี้ยงมีชื่อว่า “แตงโม” มีอายุได้ 3 ปีเศษ (คุณธนพร ยังได้ย้ำสำหรับคนที่จะซื้อกระรอกสวนมาเลี้ยงจะต้องมีอายุตั้งแต่ 2 เดือนขึ้นไป) ในการให้อาหารกระรอกเล็ก คุณธนพร จะเริ่มป้อนด้วยนมทารกและเปลี่ยนเป็นซีลีแล็ครสผลไม้ช่วงเวลาต่อมา จะให้อาหารวันละ 5 มื้อ โดยใช้หลอดฉีดยาที่เอาเข็มออกและหาไส้ไก่จักรยานมาใช้แทนจุกนม อาหารที่ใช้เลี้ยงห้ามให้นมวัว เนื่องจากกระรอกไม่สามารถย่อยได้ อาจมีผลทำให้ลูกกระรอก ท้องเสียถึงตายได้ เมื่อกระรอกโตเต็มวัยจะให้ กินผลไม้เป็นหลัก เป็นที่สังเกตว่าการเลี้ยงกระรอกสวนของคุณธนพรนั้นเมื่อกระรอกกินอาหารเสร็จแล้วจะให้นอนในกระเป๋าเสื้อเพื่อความผูกพัน เวลาเดินทางไปไหนจะนำกระรอกสวนติดตัวไปด้วย ที่อยู่ของลูกกระรอกจะต้องมีความอบอุ่นปราศจากลมพัดอาจจะมีการติดตั้งหลอด ไฟในช่วงฤดูหนาวหรืออากาศหนาวเย็น ควรมีผ้า เพื่อให้ลูกกระรอกได้ซุกตัว สำหรับผู้ที่จะเลี้ยงกระรอกสวนเพื่อการขยายพันธุ์ในอนาคตนั้นจะต้องเรียนรู้ถึงช่วงเวลาของการผสมพันธุ์คือช่วงระหว่างเดือนธันวาคม-กรกฎาคม และกระรอกสวนที่จะใช้เป็นพ่อ-แม่พันธุ์จะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 6 เดือน ในการผสมพันธุ์ตัวเมียจะเป็นตัวที่เลือกคู่ ใช้เวลาตั้งท้องนานประมาณ 1 เดือน ในแต่ละครอกจะให้ลูกเฉลี่ยเพียง 1-2 ตัวเท่านั้น กระรอกสวนจะมีอายุขัยได้ยาวนาน ถึง 10 ปี สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งในช่วงที่กระรอกมีอายุตั้งแต่ 3 เดือน-2 ปี จะมีนิสัยชอบแทะสิ่งของและจะแทะไปทั่วเพื่อลับฟันที่งอกยาวขึ้นทุกวันและนิสัยการกัดแทะลดลงเมื่อกระรอกมีอายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป คนที่คิดจะเลี้ยงกระรอกจะต้องทำใจในเรื่องนี้ เลี้ยงกระรอกจะต้องระมัดระวังโรคไข้หวัด นอกจากนั้นควรจะอาบน้ำให้อย่างน้อยอาทิตย์ละ 1 ครั้งด้วยน้ำอุ่นและใช้แชมพูเด็กที่มีฤทธิ์อ่อน ๆ หลังจากอาบเสร็จควรจะทำให้ตัวกระรอกแห้งเร็วที่สุดเพื่อป้องกันโรคปอดบวม.

พญากระรอกเหลือง สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Ratufa affinis เป็นกระรอกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดรองมาจากพญากระรอกดำ (Ratufa bicolor) ที่พบในประเทศไทย มีรูปร่างหน้าตาคล้ายพญากระรอกดำ แต่มีขนสีเหลืองครีมอ่อน ๆ ท้องสีขาว ขนหางสีเข้มกว่าลำตัว แก้มทั้งสองข้างมีสีเทาอ่อน หูและเท้าทั้ง 4 ข้าง มีสีดำ และมีขนาดเล็กกว่า โดยโตเต็มที่มีความยาวประมาณ 31-36 เซนติเมตร หางยาว 37.5-41.5 เซนติเมตร น้ำหนักเมื่อโตเต็มที่ประมาณ 0.5-1.4 กิโลกรัม
พบได้ในป่าดิบในภาคใต้ของไทยตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ลงไป จนถึงมาเลเซีย เกาะสุมาตรา เกาะบอร์เนียว อาศัยและหากินบนยอดไม้สูง ไม่ค่อยลงพื้นดิน มีพฤติกรรมความเป็นอยู่และนิเวศน์วิทยาคล้ายพญากระรอกดำ

พญากระรอกดำ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Ratufa bicolor ในวงศ์กระรอก (Sciuridae) วงศ์ย่อยพญากระรอก Ratufinae เป็นกระรอกชนิดหนึ่งที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นกระรอกชนิดที่ใหญ่ที่สุดที่พบในประเทศไทย หางยาวเป็นพวง ขนตามลำตัวและหางสีดำสนิท บางตัวอาจมีสะโพก หรือโคนหางออกสีน้ำตาล ขนบริเวณแก้มและท้องสีเหลือง เท้าหน้ามี 4 นิ้ว เท้าหลังมี 5 นิ้ว เล็บยาวและโค้งช่วยในการยึดเกาะต้นไม้ และสะดวกในการเคลื่อนไหวไปมา ขนาดโตเต็มที่มีความยาวลำตัวและหัว 33 - 37.5 ซ.ม. ความยาวหาง 42.5 - 46 ซ.ม. น้ำหนัก 1 - 1.6 ก.ก.
มีการกระจายพันธุ์ใน
แคว้นอัสสัม ของอินเดีย ภาคตะวันออกของเนปาล ภาคใต้ของจีน พม่า ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย เกาะสุมาตรา เกาะชวา เกาะบาหลี มีพฤติกรรมมักอาศัยอยู่ในป่าที่มีเรือนยอดไม้สูง เช่น ป่าเบญจพรรณและป่าดิบแล้ง มักพบเห็นอยู่ตามเรือนยอดไม้ที่รกทึบและใกล้ลำห้วย หากินในเวลากลางวันและหลับพักผ่อนในเวลากลางคืน มีความปราดเปรียวว่องไว สามารถกระโดดไปมาบนยอดไม้ได้ไกลถึง 22 ฟุต ปกติจะอาศัยอยู่ตามลำพัง ยกเว้นในฤดูผสมพันธุ์หรือมีลูกอ่อนที่อาจเห็นเป็นคู่หรือเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ผสมพันธุ์ได้เมื่ออายุได้ 2 ปี ตั้งท้องนาน 28 วัน ออกลูกครั้งละ 1 - 2 ตัว โดยที่ตัวเมียมีเต้านมทั้งหมด 3 คู่ รังสร้างขึ้นโดยการนำกิ่งไม้สดมาขัดสานกันคล้ายรังนกขนาดใหญ่ และอาจจะมีรังได้มากกว่าหนึ่งรัง สถานะของพญากระรอกดำในธรรมชาติในสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (IUCN) จัดให้อยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ (Endangered) แต่ปัจจุบันมีผู้สามารถเพาะขยายพันธุ์ได้ที่เลี้ยงได้แล้ว และนิยมเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยง